
คราบสกปรกโดยทั่วไปที่ติดกับเสื้อผ้าของเรานั้นมักเกิดจากการใช้งานในบ้านหรือจากที่ทำงาน โดยเราสามารถเอาออกด้วยวิธีการซักปกติแต่ก็อาจจะมีรอยเปื้อนบางชนิดที่การซักทั่วไปไม่สามารถเอาออกได้ MostClean จึงได้มีข้อแนะนำในการกำจัดรอยเปื้อนที่เหลืออยู่ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
กรรมวิธีการขจัดคราบเปื้อน (General Methods for removing stain)
- ซักบริเวณรอยเปื้อนฝังแน่นด้วยน้ำสบู่ที่มีความเข้มข้นสูงๆ สำหรับผ้าไหมหรือขนสัตว์ให้ขจัดสีที่มาปนเปื้อนอยู่ด้วยน้ำสบู่ที่มีฤทธิ์เป็นกลาง เช่น Bubble ความเข้มข้น 0.5% ล้างให้สะอาด ุถ้ารอยเปื้อนไม่ออกให้ทำตามวิธีขั้นที่ 2
- ซักบริเวณรอยเปื้อนด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ (Organic Solvents) เช่น น้ำยาซักแห้งตัวทำละลายที่ระเหยง่าย (A Volatile Dry Sovent) อะซิโตร แอลกอฮอล์ แต่ควรทดสอบก่อนว่าตัวทำละลายที่ใช้ไม่มีผลต่อผ้าสี หรือสีบนผ้า จากนั้นล้างให้สะอาด ถ้ายังขจัดรอยเปื้อนไม่ได้ให้ทำตามวิธีในข้อ 3
- ซักบริเวณรอยเปื้อนด้วยตัวทำละลายกรด เช่น น้ำยาขจัดสนิมผ้า Rust out กรดออกซาลิค เกลือโซเดียม และเกลือแอมโมเนียมของกรดฟลูออไรด์ (Sodium and Ammonium Acid Fluoride) และ ซิลิโคฟลูออไรด์ (Silico Fluirides) เมื่อใช้ตัวทำความสะอาดประเภทนี้ใช้เสร็จแล้วให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดเพื่อไม่ให้กรดทำลายเนื้อผ้า ถ้ายังขจัดรอยเปื้อนไม่ได้ให้ทำตามวิธีในข้อ 4
- ซักบริเวณรอยเปื้อนด้วยสารออกซิไดซิ่ง (Oxidizing Agent) เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (NACIO, Com,mon Laundry Bleach) แต่ไม่ควรใช้สารละลายนี้กับผ้าที่เป็นขนสัตว์หรือไหม หรือผ้าที่ทำจากเส้นใยโปรตีน และก่อนใช้ทุกครั้งควรทดสอบให้แน่ใจก่อนว่าสารละลายนี้จะไม่มีผลต่อสีบนผ้า ถ้ายังไม่สามารถขจัดรอยเปื้อนได้อีกให้ทำตามวิธีในข้อ 5
- ซักบริเวณรอยเปื้อนด้วยสารรีดิวซิ่ง (Reducing) ที่อุ่น หรือสารลอกสี (Stripper) เช่น โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์แล้วล้างให้สะอาด
- หมายเหตุ
- ถ้ารอยเปื้อนที่เกิดขึ้นมีสารจำพวกน้ำมันหรือขี้ผึ้งผสมอยู่ อาจใช้วิธีข้อ 2 แทนวิธีในข้อ 1 ได้ และใช้ได้กับรอยเปื้อนหมึก (Ink Stains) ในกรณีที่เป็นรอยเปื้อนหมึกการขจัดคราบควรทำก่อนการนำผ้าไปซัก เนื่องจากการซักน้ำหลายครั้งจะทำให้หมึกที่เปื้อนอยู่ซึมลึกไปในเส้นใยผ้าและทำให้การขจัดคราบทำได้ยากยิ่งขึ้น
- กรณีที่รอยเปื้อนมีขนาดใหญ่หรือมีการเปื้อนอยู่หลายแห่ง เช่น เปื้อนน้ำมันหรือขี้ผึ้ง (Grease) หรือหมึก ควรทำความสะอาดรอยเปื้อนทั้งหมดก่อนนำผ้าไปซัก
ข้อควรระวังและข้อแนะนำในการขจัดรอยเปื้อน (Precaution and Instruction)
สิ่งสำคัญเป็นอันดับแรกในการขจัดรอยเปื้อนบนผ้าคือ การตรวจสอบให้แน่ใจว่าผ้านั้นทำจากเส้นใยชนิดใด เพราะมีผลต่อการเลือกวิธีขจัดรอยเปื้อนที่เหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับ เส้นใย โครงสร้างผ้า รวมถึงสี ที่เป็นส่วนประกอบของผ้านั้น การขจัดรอยเปื้อนควรทำในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำให้เห็นรอยเปื้อนได้อย่างชัดเจน โดยทั่วไปแล้ววิธีขจัดรอยเปื้อนมีข้อสังเกตุและข้อควรระวังดังต่อไปนี้
- ไม่ควรใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรท์กับผ้าหรือวัสดุที่มีส่วนประกอบของไหม ขนสัตว์ ขนแกะ (Mohair) หรือเส้นใยสัตว์อื่นๆ เพราะเส้นใยจะถูกทำลายด้วยสารละลายชนิดนี้
- ไม่ควรใช้สารออกซิไดซิ่งหรือสารรีดิวซิ่งกับรอยเปื้อนบนผ้าสี เว้นเสียแต่ว่าจะได้ทดสอบแล้วว่าสีนั้นมีความคงทนต่อสารดังกล่าวเพียงพอ เพราะสารออกซิไดซิ่งและสารรีดิวซิ่งมักจะไม่เพียงขจัดรอยเปื้อน แต่จะลอกสีของผ้าด้วย การทดสอบความคงทนของสี อาจทดสอบดูตรงตะเข็บด้านในของผ้า
- ไม่ควรใช้สารละลายด่างที่อุ่น และมีความเข้มข้นสูงกับเส้นใยสัตว์ เพราะด่างสามารถทำลายเส้นใยไหมและขนสัตว์รวมทั้งทำลายสีด้วย
- ไม่ควรใช้กรดแร่ เช่น กรดซัลฟิวริก กรดเกลือ หรือเกลือของกรดที่สามารถไฮโดรไลส์ให้กรดเหล่านี้ออกมากับเส้นใยเซลลูโลส ไม่ว่าจะเป็นการทำให้แห้งหรือกดทับ กรดไนตริก กรดออกซาลิค และสารที่ใช้เป็นน้ำยาขจัดสนิม ถ้าปล่อยให้แห้งบนผ้า เมื่อผ้านั้นถูกแรงกดหรือทับจะทำให้สารเหล่านี้ซึมเข้าไปทำลายเส้นใยเสียหายได้
- ไม่ควรใช้กรดอะซีติคเข้มข้น กรดฟอร์มิคเข้มข้น หรืออะซีโตนกับผ้าหรือวัสดุที่ประกอบด้วยเส้นใยอะซิเตต เส้นใยไตรอะซีเตต หรือเส้นใยประเภทใดประเภทหนึ่งของมอดาครีลิค (Modacrylic) เช่น วีเรล (Verel) หรือ ไดเนล (Dynel) เพราะสารเหล่านี้จะทำลายเส้นใย (ข้อควรระวัง อย่าใช้กรดฟอร์มิคเข้มข้นกับเส้นใยไนล่อน)
- ไม่ควรใช้แรง หรือการกระทำเชิงกล (Mechanical Action) มากไปสำหรับผ้าที่มีเส้นใยไหมหรือเรยอนเป็นส่วนประกอบ แต่ควรใช้แปรงที่อ่อนนุ่มจุ่มสารขจัดรอยเปื้อนที่เหมาะสมกับเส้นใยแล้วแปรงลงบนผ้านั้น โดยใช้แรงกระทำเชิงกลน้อยที่สุด ถ้าจำเป็นต้องใช้ให้หลีกเลี่ยงการขัดถูในทางตรงข้ามของผ้า
- ควรล้างสารต่างๆ ที่ใช้ในการขจัดรอยเปื้อนออกให้หมดก่อนที่จะทำให้แห้งหรือรีด ในทางปฎิบัติการกำจัดสารขจัดรอยเปื้อน (Spotting Agent) ควรใช้สารขจัดรอยเปื้อนอีกชนิดหนึ่งมาขจัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ในการฟอกขาว โดยสารออกซิไดซิ่งและรีดิวซิ่ง (Oxidizing and Reducing Bleaches) เช่น ถ้ารอยเปื้อนบนผ้าถูกขจัดโดยการฟอกขาวด้วยสารออกซิไดซิ่ง การกำจัดสารนี้ทำได้โดยการใช้สารฟอกขาวที่เป็นตัวสารรีดิวซิ่ง โดยจะทำให้เกิดการสะเทินที่บริเวณนั้น
ในกรณีที่ต้องการขจัดรอยเปื้อนอย่างเร็วที่สุด ควรกลับไปทบทวนวิธีการและข้อจำกัดต่างๆ อีกครั้งว่าสารขจัดรอยเปื้อนนั้นมีข้อจำกัดในการใช้กับชนิดผ้าและสีอย่างไรบ้าง เพราะสารบางอย่างอาจทำลายเส้นใยหรือสีได้ และการใช้สารละลายที่มีความเข้มข้นมากเกินไปหรือทิ้งให้อยู่บนรอยเปื้อนนานเกิดไปอาจจะมีผลในการทำลายเส้นใยหรือสีด้วยเช่นกัน
เมื่อเกิดรอยเปื้อนขึ้นบนเสื้อหรือผ้าทั้งตัว ซึ่งจำเป็นต้องแช่เสื้อหรือผ้าทั้งชิ้นลงในสารละลาย เมื่อรอยเปื้อนถูกขจัดออกหมดแล้ว ควรซักล้างให้สะอาดเพื่อขจัดรอยเปื้อนดังกล่าวออกให้หมด
ผ้าไหมหรือเรยอนที่มีการลงแป้ง หรือการตกแต่งสำเร็จบางชนิดอยู่ เมื่อขจัดรอยเปื้อนจะมีผลทำให้เกิดเป็นวงขึ้นรอบๆ รอยเปื้อนนั้น ให้ใช้ผ้าฝ้ายที่ทอห่างๆ จุ่มสารขจัดรอยเปื้อนอย่างหมาดๆ ค่อยๆ ถูจากข้างนอกวงเข้ามาภายในในลักษณะการเคลื่อนเป็นวงกลม