(Chemical Compounds Used for Stain Removal)

สารประกอบเคมีที่จะกล่าวต่อไปจากนี้เป็นสารที่นิยมใช้กันมากในการขจัดรอยเปื้อนจากผ้า ซึ่งพบในเรื่อง “ชนิดและวิธีการขจัดรอยเปื้อน” ที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น สารเคมีเหล่านี้ได้แก่
1. น้ำสบู่ (Soap)
สบู่ที่ใช้ในการซักรีดควรมีสภาพเป็นกลาง ไม่มีหน่วยที่เป็นด่าง (Alkaline Group) หรืออาจะเป็นสบู่หรือสบู่ผงที่มีด่างผสมอยู่ในอัตราส่วนต่างๆ กัน ความเข้มข้นของน้ำสบู่เตรียมได้ตามความต้องการที่จะใช้ เช่น อาจจะใช้สบู่ที่เป็นกลางความเข้มข้น 7.5-15 กรัม/ลิตร
สารละลายน้ำสบู่ที่เดือดหรือร้อนจะมีประสิทธิภาพในการขจัดรอยเปื้อนบนผ้าฝ้ายและผ้าลินินสีขาวได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ควรใช้กับผ้าไหมหรือผ้าขนสัตว์เป็นอันขาดเพราะสารละลายน้ำสบู่ที่เดือดจะทำอันตรายต่อเส้นใยผ้านั้น และควรตรวจสอบผ้าสีด้วยว่าสีที่ย้อมมีความคงทนต่อสารละลายน้ำสบู่ที่ร้อนหรือไม่ เพราะอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนสีหรือสีตกออกมาได้
2. ด่าง (Alkaline Builders)
สารที่มีสมบัติเป็นด่างที่ใช้ มีเช่น โซเดียมคาร์บอเนต (Na2CO3) ไตรโซเดียมฟอสเฟต (Na3PO4) โซเดียมซิลิเกต (Na2SiO3) และโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NAOH)
ข้อควรระวัง ด่างเมื่อมีความเข้มข้นมากหรือร้อนจะทำอันตรายต่อขนสัตว์หรือไหมและมักทำลายสีบนผ้าขนสัตว์และไหมด้วย
3. แอมโมเนีย (Ammonia)
ปกติแอมโมเนียที่มีขายอยู่ทั่วไปจะมีเนื้ออยู่ 28-30% แต่เมื่อนำไปใช้มักจะเจือจางจาก 28% ไปเป็น 10% หรืออาจจะกล่าวว่าจะต้องเจือจางลง 2/3 และคงเหลือ 1/3 สารละลายแอมโมเนียนี้ไม่ควรใช้กับขนสัตว์หรือไหม เพราะสีอาจถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงได้
4. โซเดียมไฮโปคลอไรต์ (NACIO)
เป็นสารออกซิไดซิ่งที่เหมาะสำหรับเส้นใยฝ้าย เรยอน และใยสังเคราะห์บางตัวเท่านั้น และจะไม่ใช้กับไหมหรือขนสัตว์ เพราะอาจทำลายสีบนผ้านั้น ฉะนั้นถ้าผ้าที่ต้องการขจัดรอยเปื้อนเป็นผ้าสีก็ควรทดสอบให้แน่ใจก่อนว่าสารตัวนี้จะไม่ทำลายสีบนผ้า ปกติจะใช้สารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์เจือจาง 1% (ผงฟอกขาวตามบ้านจะมีความเข้มข้นประมาณ 5.25%)
5. ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซต์ (H2O2)
ปกติสารตัวนี้ที่ขายอยู่มีความเข้มข้น 10% หรือ 30% แต่ความเข้มข้นที่ใช้ในการขจัดรอยเปื้อนจะใช้เพียงประมาณ 1% ถ้าเป็นคราบที่ติดแน่นอาจใช้ความเข้มข้นถึง 3%
ข้อควรระวัง ถ้าใช้สารละลายที่มีความเข้มข้น 3% ควรทำอย่างรวดเร็วและรีบเอาน้ำล้างสารละลายที่เหลืออยู่ออกให้หมด
6. โซเดียมเปอร์บอเรต (NaBO3H2O, NaBO3H2O)
โซเดียมเปอร์บอเรตสามารถทำปฎิกริยากับน้ำเกิดเป็นไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ซึ่งมีฤทธิ์เป็นออกซิไดซิ่งอย่างอ่อนๆ และถ้าอยู่ในลักษณะที่เป็นผงก็สามารถใช้ได้โดยตรงกับรอยเปื้อน หรือจะเตรียมเป็นสารละลายอิ่มตัวก็ได้ เมื่อทำการฟอกขาวด้วยสารตัวนี้แล้วควรทำการล้างออกให้หมด
7. โปตัสเซียมเปอร์มังกาเนต (KMnO4)
เป็นสารออกซิไดซิ่งที่แรง โดยปกติจะใช้ปริมาณ 7.5-15 กรัม/ลิตร เมื่อใช้สารนี้ในการขจัดรอยเปื้อน สีของสารตัวนี้อาจติดอยู่บนผ้าเป็นสีชมพูหรือน้ำตาลขึ้นอยู่กับผ้าที่นำมาขจัดรอยเปื้อน การขจัดสีของโปตัสเซียมเปอร์มังกาเนตนี้ทำได้โดยใช้สารละลายเจือจางและอุ่นของโซเดียมไฮโดรซัลไฟท์ แล้วตามด้วยสารขจัดสนิมที่เหมาะสม (สารละลายโปตัสเซียมเปอร์มังกาเนตที่ใช้เป็นสารละลายเย็น)
8. แมกนีเซียมซัลโฟต (MgSO4 (Epsom salt))
ปกติใช้ในปริมาณ 7.5-15กรัม/ลิตร และใช้กับสารละลายโปตัสเซียมเปอร์มังกาเนต เพื่อใช้แมกนีเซียมซัลเฟตทำปฎิกริยากับโซเดียมไฮดรอกไซด์ซึ่งได้จากปฎิกริยาเมื่อละลายโปตัสเซียมเปอร์มังกาเนตในน้ำ
การใช้แมกนีเซียมซัลเฟตจะเป็นการลดอันตรายในการใช้โปตัสเซียมเปอร์มังกาเนต เพราะโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่เกิดจากการละลายของโปตัสเซียมเปอร์มังกาเนตในน้ำซึ่งมีผลต่อเส้นใยไหมและขนสัตว์จะถูกทำปฎิกริยากับแมกนีเซียมซัลเฟตที่ใส่ลงไปแต่ถ้าเป็นเส้นใยฝ้ายหรือพวกเซลลูโลสก็ไม่จำเป็นต้องใช้แมกนีเซียมซัลเฟต
9. โซเดียมไบซัลไฟท์ (NaHSO3)
เป็นสารรีดิวซิ่งตัวหนึ่งในการขจัดรอยเปื้อนจะเตรียมสารตัวนี้เป็นสารละลายอิ่มตัว และจะต้องใช้ความร้อนเป็นตัวช่วย โซเดียมไบซัลไฟท์นี้ยังสามารถใช้เป็นสารช่วยขจัดคลอรีนที่มีเหลืออยู่ หลังจากใช้โซเดียมไฮโปคลอไรต์อีกด้วย
10. โซเดียมไฮโดรซัลไฟท์ (Na2S2Q4)
สารตัวนี้ใช้ได้กว้างขวางมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขจัดสี (Color) และสีย้อมบางตัว (Dyes) ถ้าใช้โซเดียมโฮโดรซัลไฟท์ในการลอกสี (Stripping Colors) หรือฟอกขาวทั้งตัว สารละลายที่จะเตรียมคิดจากน้ำหนักของผ้า โดยทั่วไปใช้ความเข้มข้น 5% และสารละลายแอมโมเนียความเข้มข้น 3-5% เติมน้ำให้ท่วมผ้า หรือใช้ผ้าที่อิ่มตัวด้วยน้ำให้ความร้อนจนเดือดประมาณ 10-15 นาทีก็เพียงพอขจัดสี จากนั้นนำผ้ามาล้างและอาจสะเทินด้วยกรดอะซิติคถ้าจำเป็น
11. กรดหรือเกลือของกรด (Sours)
ใช้เพื่อสะเทินด่างซึ่งอาจมีหลงเหลืออยู่จากขบวนการต่างๆ เช่น ในกรรมวิธีซักล้าง สบู่ที่ใช้ส่วนมากก็จะมีด่างเป็นส่วนประกอบ ซึ่งด่างนี้อาจเป็นสาเหตุให้สีของผ้าเปลี่ยนไป จึงต้องใช้กรดสะเทินด่างที่เหลืออยู่ และในบางกรณีการใช้กรดอาจทำให้รอยเปื้อนนั้นถูกขจัดออกไปได้ (เช่น สนิม เป็นต้น) ตัวอย่างของกรดที่ใช้ได้แก่
- กรดออกซาลิค
- เกลือโซเดียมของกรดฟลูออไรด์
- เกลือแอมโมเนียมของกรดฟลูออไรด์
- กรดอะซีติค
- เกลือโซเดียมซิลิโคฟลูออไรด์
- เกลือแอมโมเนียมซิลิโคฟลูออไรด์
กรดในข้อ 1-3 สามารถใช้ในการขจัดสนิมได้ สารละลายกรดหรือเกลือของกรดเหล่านี้จะใช้ปริมาณ 30 กรัม/ลิตร และจะต้องซักให้สะอาดก่อนจะนำไปรีด (พวกเส้นใยพืชและเส้นใยโปรตีนอาจถูกทำลายด้วยกรดเหล่านี้)
12. โซเดียมไธโอซัลเฟต (Na2S2O3)
มีประโยชน์ในการขจัดรอยเปื้อนไอโอดีน ซึ่งไม่สามารถขจัดได้ในขบวนการซัก ในการเตรียมสารละลายนี้จะต้องใช้น้ำอุ่น และเตรียมที่ความเข้มข้น 10% การขจัดทำโดยการแช่รอยเปื้อนไอโอดีนลงในอ่างสารละลายที่อุ่น จนกระทั่งรอยเปื้อนละลายหมด ถ้ารอยเปื้อนมีขนาดเล็กให้ขจัดรอยนั้นโดยไม่ต้องแช่ผ้าลงไปทั้งตัว
ตัวทำละลาย(Solvent)
ตัวทำละลายที่มีประโยชน์ในการขจัดรอยเปื้อนต่างๆ จากผ้า คือ
- อะซีโตน เป็นของเหลวติดไฟง่าย ฉะนั้นจึงไม่ควรใช้สารตัวนี้ใกล้ไฟ ข้อควรระวัง สารตัวนี้สามารถละลายเส้นใยอะซีเตต ไตรอะซีเตต และมอดาครีลิค ดังนั้นควรตรวจสอบชนิดของเส้นใยก่อน และในบางกรณีอะซีโดนก็ยังมีผลต่อสีย้อมด้วย
- เมธิวแอลกอฮอล์หรือเอธิลแอลกอฮอล์ เป็นของเหลวที่ติดไฟง่าย ควรใช้อย่างระมัดระวังเช่นเดียวกับอะซีโตน
- เอมิลอะซีเตต (Amyl Acetate) สารตัวนี้ไม่ทำอันตรายต่อเส้นใย แต่มีผลต่อสีทุกชนิด และไวไฟมาก มีข้อควรระวังเช่นเดียวกับอะซีโตน
- แนพธา (Naphtha) น้ำยาซักแห้งที่ไวไฟ ฉะนั้นอย่าใช้ใกล้ไฟ หรือให้ความร้อนขณะที่ใช้สารนี้ในการขจัดรอยเปื้อน
- เตตตระคลอโรเอธิลี (Tetrachloroethylene) เป็นน้ำยาซักแห้ง แต่ไม่ไวไฟและไม่มีผลในการทำลายเส้นใย แต่มีผลต่อสีทุกชนิด